ประวัติโรงเรียน

ประวัติโรงเรียนวัดวิเวกวนาราม อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

ประวัติความเป็นมา

               โรงเรียนวัดวิเวกวนาราม   ตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐  ในระยะแรกสังกัดกรมการศาสนา  กระทรวงศึกษาธิการ  เปิดสอนระดับ ม.ต้น ปัจจุบันสังกัดกองพุทธศาสนศึกษา  สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  เปิดสอนระดับ ม.ต้น-ม.ปลาย  โรงเรียนตั้งอยู่  ณ วัดวิเวกวนาราม  เลขที่ ๑  หมู่ที่ ๘   ถนนสันทราย-พร้าว  ตำบลหนองหาร  อำเภอสันทราย  จังหวัดเชียงใหม่    เปิดสอนแผนกสามัญศึกษา  แผนกธรรม-บาลี   เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม  ประจำอำเภอสันทราย  และเป็นผลงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของสำนักงานบริหารงานโครงการพระธรรมจาริกส่วนภูมิภาค  วัดศรีโสดา  โดยแยกออกมาจากโรงเรียนสมเด็จพระพุทธชินวงศ์  วัดศรีโสดา  โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗  เมื่อคณะกรรมการฝ่ายการศึกษาในโครงการพระธรรมจาริก  เห็นว่าคณะสงฆ์อำเภอสันทรายและคณะศรัทธาได้ยกวัดวิเวกวนาราม  ให้อยู่ในความอุปถัมภ์ของเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์  เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ  ประธานคณะพระธรรมจาริก  เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรฯ   จึงได้นำนักเรียนชั้น ม.๔ จากโรงเรียนสมเด็จพระพุทธชินวงศ์  จำนวน ๑ ห้อง  มาเปิดทำการเรียนการสอนที่วัดวิเวกวนาราม  เพราะเห็นว่ากว้างขวางมีเนื้อที่มากถึง  ๒๒๕  ไร่  วัดศรีโสดามีสถานที่คับแคบ  พระภิกษุสามเณรอาศัยอยู่มากเกินไป   โดยได้เปิดสอนต่อเนื่องถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ในระดับชั้น  ม.๔-๖  เมื่อสิ้นปีการศึกษา  ๒๕๓๙  ได้ย้ายนักเรียน ม.๔-๖  กลับไปที่วัดศรีโสดา  แล้วนำนักเรียน ชั้น ม.๒  อยู่ที่วัดวิเวกวนาราม พอขึ้น  ม.๓  ได้ย้ายกลับไปอยู่วัดศรีโสดา   พระประสิทธิ์  ปวฑฺฒโก  เห็นว่าการย้ายนักเรียนกลับไปกลับมา ทำให้ การบริหารจัดการไม่สะดวก   จึงเสนอคณะกรรมการ ฯ ขอจัดตั้งโรงเรียนอีกแห่ง ใช้ชื่อว่า “ โรงเรียนวัดวิเวกวนาราม” ตามชื่อวัด และ ให้อยู่ในความอุปถัมภ์ของโครงการพระธรรมจาริก  ซึ่งกรมการศาสนาได้อนุญาตลงวันที่  ๒๔  ธันวาคม   ๒๕๔๐  ให้ดำเนินการได้  ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่  ๑๖   พฤษภาคม  ๒๕๔๐   เปิดสอนในระดับ ชั้น ม.๑-๓  ในปีแรกของการดำเนินการมีนักเรียนจำนวน   ๒๐๐  รูป   นักเรียนเป็นพระภิกษุสามเณรทั้งหมด  พักประจำแบบกินนอนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา 

               สาเหตุที่โรงเรียนวัดวิเวกวนารามมีนักเรียนเป็นชาวเขา  เนื่องจากเกี่ยวข้องกับโครงการพระธรรมจาริก  โดยเกิดจากแนวความคิดที่จะนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่แก่ชาวเขา  เมื่อครั้งที่นายประสิทธิ์  ดิสวัฒน์  ผู้อำนวยการกองสงเคราะห์ชาวเขา   กรมประชาสงเคราะห์    กระทรวงมหาดไทย   ปัจจุบันคือ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์     ขณะลาราชการอุปสมบทจำพรรษาที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม  กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ.๒๕๐๗    และเกิดความคิดว่าหากอาราธนาพระภิกษุสงฆ์นำพระธรรม คำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่แก่ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ น่าจะเป็นประโยชน์แก่ทางราชการอย่างมากต่อการพัฒนาจิตใจชาวเขา   จึงปรึกษากับพระศรีวิสุทธิวงศ์  ผู้ช่วยเจ้าอาวาส และพระธรรมกิตติโสภณ (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุทธชินวงศ์)  เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพตรดุสิตวนาราม  เพื่อพิจารณาในขั้นทดลอง  ต่อมาเมื่อฝ่ายคณะสงฆ์และกรมประชาสงเคราะห์ เห็นชอบร่วมกันแล้ว   ในปี ๒๕๐๘   จึงเริ่มโครงการนำร่องทดลองส่งพระสงฆ์รุ่นแรก ๕๐ รูป  เรียกคณะสงฆ์ดังกล่าวว่า “นชอบ็พระธรรมจาริก”  ขึ้นไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวเขาและสร้างสัมพันธ์ทางด้านจิตใจ ตามหมู่บ้านชาวเขา จำนวน ๑๐  หมู่บ้าน ๆ ละ ๕ รูป  ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่  เชียงราย  แม่ฮ่องสอน  ตาก และเพชรบูรณ์  เป็นเวลา ๔๕ วัน ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ๒๕๐๘  ผลทำให้ชาวเขาได้รู้จักพระพุทธศาสนา  เกิดความเลื่อมใสศรัทธาแสดงตนเป็นพุทธมามกะประมาณ ๘๐๐ คน ส่งบุตรหลานเข้าบรรพชาเป็นสามเณร ๑๒ รูป  นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่พระพุทธศาสนาได้มีการแผ่ขยายไปสู่ชาวเขาที่อาศัยในถิ่นกันดาร  ในการดำเนินการครั้งนี้ได้รับการอุปถัมภ์จาก กรมประชาสงเคราะห์    กระทรวงมหาดไทย  มูลนิธิเอเชีย  รวมทั้งภาคเอกชนอื่น ๆ

               โครงการนำร่องเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวเขา ๖ เผ่า ได้แก่ กะเหรี่ยง แม้ว เย้า  อีก้อ  ลีซอ  และลาหู่   ต่อมาคือโครงการพระธรรมจาริกครั้งนี้    ถือได้ว่าประสบผลสำเร็จในระดับที่คาดไม่ถึงว่าชาวเขาซึ่งปกติแต่ละเผ่า จะมีคติความเชื่อตามจารีตประเพณีที่แตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแตกต่างไปจากคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาจนเกิดปรากฏการณ์เป็นรูปธรรม  มีธรรมเนียมปฏิบัติเยี่ยงชาวพุทธทั่วไป   เช่น การเคารพนับถือพระสงฆ์   การกราบไหว้  การทำบุญตักบาตร  การปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ  การส่งบุตรหลานเข้ารับการบรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุสามเณร  รวมทั้งความต้องการให้พระสงฆ์อยู่ในชุมชนของตนเอง   โดยโครงการพระธรรมจาริก ได้ตั้งสำนักงานส่วนกลางขึ้นที่วัดเบญจมบพิตรฯ   กรุงเทพ ฯ  และสำนักงานบริหารงานส่วนภูมิภาค  ที่ วัดศรีโสดา  ตำบลสุเทพ  อำเภอดเมือง  จังหวัดเชียงใหม่  มีการส่งพระสงฆ์อาสาสมัครที่เรียกว่า “พระธรรมจาริก”  ไปปฏิบัติศาสนกิจในหมู่บ้านชาวเขาทั่วภาคเหนือ  ชาวเขาเกิดศรัทธา  ส่งบุตรหลานให้พระธรรมจาริกนำมาบรรพชาอุปสมบท  พักจำพรรษาอยู่ที่วัดศรีโสดา  ในปีต่อๆมาสมเด็จพระพุทธชินวงศ์  ได้ดำริให้นำชาวเขาเดินทางไปประกอบพิธีบรรพชาอุปสมบทที่วัดเบญจมบพิตร  กรุงเทพ ฯ  เพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธาในกรุงเทพได้ร่วมบริจาคอุปถัมภ์การดำเนินงานโครงการ  แล้วเดินทางกลับไปจำพรรษาอยู่ที่วัดศรีโสดา  พระภิกษุสามเณรชาวเขา  มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี  วัดศรีโสดา  จึงได้จัดตั้งโรงเรียนผู้ใหญ่ชาวเขาขึ้น  เปิดสอนตามหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน การต่อมาปรากฏว่ามีพระภิกษุสามเณรมาบวชเรียนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้ขอจัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาขึ้น  ชื่อว่า  “ โรงเรียนสมเด็จพระพุทธชินวงศ์”   ตามราชทินนามผู้ให้กำเนิดโครงการพระธรรมจาริก แต่ยังมีผู้ขอบวชเรียนแต่ละปีมากเช่นเดิม ที่พักและอาคารเรียนไม่เพียงพอ    จึงได้นำนักเรียน ชั้น  ม. ๔  มาเปิดการเรียนการสอนที่วัดวิเวกวนาราม   เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗   แต่ขึ้นกับโรงเรียนสมเด็จพระพุทธชินวงศ์  วัดศรีโสดา  ต่อมาได้ตั้งโรงเรียนวัดวิเวกวนารามขึ้นในที่สุด  โดยมีพระธรรมจาริก นำบุตรหลานชาวเขามาสมัครเข้าเรียนเป็นประจำทุกปี

               ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ โรงเรียนวัดวิเวกวนาราม  ได้ย้ายสังกัดจากกรมการศาสนา  มาสังกัดกองพุทธศาสนศึกษา  สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ    ตามการปฏิรูประบบราชการของรัฐบาล

               ปี พ.ศ. ๒๕๔๙  โรงเรียนวัดวิเวกวนาราม   ได้ขออนุญาตขยายชั้นเรียน จาก ม.ต้น(ม.๑-๓)  เป็นระดับ  ม. ปลาย (ม.๔-๖)